28/03/2024

เหรียญสมเด็จพระสังฆราช(ปลด) รุ่นแรก ปี 2505 วัดเบญจมบพิตร กทม.:02094

เหรียญสมเด็จพระสังฆราช(ปลด) รุ่นแรก ปี 2505 วัดเบญจมบพิตร กทม.
เหรียญสมเด็จพระสังฆราช(ปลด) รุ่นแรก ปี 2505 วัดเบญจมบพิตร กทม.

รหัส : 02094

ราคา : 0.00

(รายการนี้ไม่มีแล้ว)

พระประวัติ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตติโสภโณ)
วัดเบญจมบพิตร
พระองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ประสูติ
สมเด็จพระสังฆราช (กิตติโสภณมหาเถระ) พระนามเดิม “ปลด” นามบิดา ขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) นามมารดา ท่านปลั่ง ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๒๕๑ เวลา ๑๐ ทุ่ม (๐๔.๐๐ น.) เศษ ที่บ้านในตรอกหลังตลาดพาหุรัด ติดกับวัดราชบุรณะ ในพระนคร

ท่านขุนพิษณุโลกประชานาถ (ล้ำ) เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นเจ้ากรมคนแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้รับสั่งชี้แจงให้ทราบว่า มีสายตระกูลสัมพันธ์กันโดยฐานพระญาติ ในสายตระกูลเกตุทัต, หงสกุล, สกุณะสิงห์, และคชาชีวะ, โดยท่านเจ้ากรมล้ำ เป็นบุตรท่านสั้น และหลวงรักษ์ราชหิรัญ (หนูพิณ) และสมเด็จพระสังฆราชทรงใช้นามสกุลว่า “เกตุทัต” เสมอ เพราะทรงถือว่าเป็นสายใหญ่ ส่วนท่านปลั่งนั้น โดยสายตระกูลเพียงแต่แจ้งว่าเป็นญาติกับหม่อมสว่าง ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ โดยสมเด็จพระสังฆราช ทรงทั้งอยู่ในฐานะเป็นน้าของพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น ที่กำเนิดแต่หม่อมสว่าง

สมัยทรงพระเยาว์และเริ่มการศึกษา
ท่านปลั่งได้พาสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังทรงพระเยาว์ ไปอยู่กับท่านตาหรั่งและท่านยายน้อย (ท่านตาและท่านยายของสมเด็จพระสังฆราช) ที่บ้านเดิมในตรอกหลังพระราชวังเดิมธนบุรี ทรงเจริญวัย ณ บ้านนี้ จนถึงเวลาไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนม์ ได้ ๑๒ ปี

ได้ทรงศึกษาอักขรสมัยพออ่านออกเขียนได้แล้ว เริ่มเรียนภาษาบาลีแต่เมื่อพระชนม์ได้ ๘ ปี โดยท่านตาเป็นผู้พาไปเรียนกับอาจารย์และรับกลับบ้าน ได้เรียนมูลกัจจายน์กับอาจารย์ฟัก วัดประยูรวงศาวาส จนจบการก และเรียน ธมฺมปทฏฺฐกถากับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย) แต่ยังเป็นพระเทพมุนี วัดกัลยาณมิตร วัดพระเชตุพน และพระยาธรรมปรีชา (บุญ) แต่ยังเป็นพระวิจิตรธรรมปริวัตร ซึ่งเป็นอาจารย์หลวงสอนพระปริยัติธรรม ณ วัด สุทัศนเทพวราราม

การเรียนภาษาบาลีของพระองค์ในระยะนี้ คล้ายกับนักเรียนไปโรงเรียนอย่างในปัจจุบันกล่าวคือ ยังคงอยู่ที่บ้าน แล้วมาเรียนหนังสือตามสถานที่ดังกล่าว แบบนักเรียนไปกลับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ พระชนม์ได้

๑๒ ปี จึงทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดพระเชตุพน

บรรพชา
ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระสาธุศีลสังวร (บัว) วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ ปี ในปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาอีก ๓ เดือนก็ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมในปลายปีนั้น ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ ทรงเป็นอธิบดีการสอบไล่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรปลดเข้าแปลได้ประโยค ๑ ก็รับสั่งว่า “เณรเล็ก ๆ ก็แปลได้” และรับสั่งถามถึงอาจารย์ ท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร (บัว) จึงนำถวายตัว ครั้นทรงสอบถามได้ความว่าเป็นบุตรเจ้ากรมล้ำก็ยิ่งทรงพระกรุณา จึงโปรดให้อยู่วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม ตั้งแต่วันนั้น ต่อมาได้เข้าแปลประโยค ๒ และประโยค ๓ ได้ ในการสอบไล่คราวนั้น

เมื่อได้มาอยู่วัดเบญจมบพิตรแล้ว ก็ได้ ศึกษาพระปริยัติธรรมสูงขึ้นโดยลำดับ ประโยค ป.ธ. ๔ – ๕ – ๖ ได้ศึกษากับท่านอาจารย์ คือ สมเด็จพระวันรัต ปุณณทัตตมหาเถระ (จ่าย) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรองค์ประถม และสมเด็จพระวันรัต อุทยมหาเถระ (ฑิต) เจ้าอาวาส วัดมหาธาตุ ผู้กำกับการวัดเบญจมบพิตร และอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายท่าน ผลของการศึกษา ปรากฏว่าทรงสอบไล่พระปริยัติธรรมประโยค ๙ ได้เมื่อพระชนม์ย่างเข้าปีที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๔๕๑)

อุปสมบท
ทรงได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๒

กรมพระศาสนา

พระองค์ได้รับภารกิจพระศาสนามาเป็นอันมาก และภาระหน้าที่ที่พระองค์ได้ทรงรับแล้วนั้น ๆ ก็ทรงสามารถปฏิบัติให้สำเร็จไปด้วยดี และบางครั้งต้องประกอบด้วยอุบายวิธี เช่นการที่จะป้องกันมิให้ท่านครูบาศรีวิชัย และศิษย์อื่น ๆ ทำการบรรพชาอุปสมบทบุคคลไม่เลือก คือเมื่อมีบุคคลมาขอบวชแล้ว จะเป็นบุคคลเช่นไรไม่คำนึงถึง ให้การบรรพชาอุปสมบททันที ครั้นบุคคลเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จึงก่อความลำบากแก่วงการคณะสงฆ์ในภาคพายัพ พระองค์ในฐานะเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ ครั้นจะปฏิบัติการอะไรรุนแรงลงไปก็ไม่ได้ เพราะครูบาศรีวิชัยเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอันมาก ซึ่งโดยความเป็นจริง ครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือนได้ แต่บรรดาสานุศิษย์ของครูบาเองพยายามที่จะใช้บารมีธรรมของท่านไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์จึงได้อาราธนาครูบาศรีวิชัยลงมาพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อขอให้ครูบาศรีวิชัยได้ทำสัญญาว่าจะไม่บวชพระเณรก่อนได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกันก็ได้ปรึกษาหารือเพื่อความเรียบร้อยแห่งวงการคณะสงฆ์ด้วย ซึ่งครูบาศรีวิชัยก็ได้เห็นชอบด้วยดีและยอมทำสัญญาไว้กับสมเด็จพระสังฆราช เมื่อได้ตกลงกันแล้วสมเด็จพระสังฆราชก็ได้ทรงอนุญาตให้ครูบาศรีวิชัยกลับเชียงใหม่ได้ และการคณะสงฆ์ก็เรียบร้อยแต่นั้นมา สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่า ครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก และได้รักษาสัญญานั้นเป็นอันดีมาจนตลอดชนมชีพของท่าน นี่เป็นเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง ที่ได้ทรงปฏิบัติการไปเพื่อกิจพระศาสนา และกิจการพระศาสนาที่ได้ทรงปฏิบัติตลอดพระชนมชีพของพระองค์นั้น พอจะสรุปลงได้ในองค์การพระศาสนาทั้ง ๔ องค์การ ดังต่อไปนี้

๑. องค์การปกครอง

พอได้รับการอุปสมบทแล้ว ในฐานะที่เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค ก็คงจะได้รับมอบหมายให้ช่วยการปกครองคณะเป็นการภายในบ้าง แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน ต่อล่วงมาอีก ๖ ปี พระชนมายุได้ ๒๖ ปี พรรษา ๖

ในต้นรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ งานปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์จึงปรากฎเป็นหลักฐานตั้งแต่นั้นมา

๒. องค์การศึกษา

ได้ทรงรับภารกิจพระศาสนาในด้านการศึกษามาเป็นอันมาก เริ่มแต่การศึกษาในสำนักวัดเบญจมบพิตร อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่จบการศึกษาตามหลักสูตรแล้วก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนบาลีผู้หนึ่ง ปรากฏว่าทรงเป็นครูที่ดี สามารถถ่ายเทความรู้ให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี ศิษย์ของพระองค์ได้สำเร็จการศึกษาเป็นเปรียญประโยคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ได้เป็นกำลังพระศาสนา และที่ออกไปรับราชการและประกอบอาชีพต่าง ๆ มีเป็นอันมากทรงรักงานสอนหนังสือมาก เคยรับสั่งเสมอว่าเวลาที่สุขสบายใจ ก็คือการสอนและการแสดงธรรมโดยปฏิภาณโวหาร ทรงทำการสอนด้วยพระองค์เอง และอำนวยการให้พระภิกษุอื่น ๆ สอน ทั้งในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรและในมณฑลพายัพ โดยส่งพระเปรียญจากจังหวัดพระนครไปทำการสอนในจังหวัดต่าง ๆ เป็นอันมาก ทำให้การศึกษาภาษาบาลีใน ๗ จังหวัดมณฑลพายัพได้เจริญรุ่งเรืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

นอกจากจะทรงสอนด้วยพระองค์, อำนวยการให้ผู้อื่นสอน และดำรงตำแหน่งในทางการศึกษาดังกล่าวมาแล้ว ในส่วนการสร้างสถานที่ศึกษา โดยเฉพาะในวัดเบญจมบพิตร ทรงอำนวยการให้จัดการสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ๒ หลัง เป็นตึกสองชั้นก่ออิฐถือปูน และให้สร้างหอสมุด ป. กิตติวัน ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ในส่วนการศึกษาวิชาสามัญทางคดีโลก พระองค์ได้ทรงอุปการะอุปถัมภ์ในการศึกษาแผนกนี้โดยสมควรแก่ความจำเป็น และได้สร้างโรงเรียนเทศบาลขึ้น ในวัดเบญจมบพิตร หลังหนึ่ง ส่วนในมณฑลพายัพ ก็ได้ทรงอำนวยให้มีการศึกษาในวัดต่าง ๆ หลายวัด ช่วยเหลือบ้านเมืองโดยสมควรแก่ภาวะสมณะ

๓. องค์การเผยแผ่

ในการเผยแผ่ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น สมเด็จพระสังฆราช ถึงแม้จะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ แต่ก็ได้ทรงแสดงธรรมทั้งที่ได้เรียบเรียงขึ้นแสดง และทรงแสดงโดยปฏิภาณโวหารในโอกาสต่าง ๆ และในวันธรรมสวนะเป็นประจำ ครั้งหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ สมัยเมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสุทธิวงศ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ถวายพระธรรมเทศนาในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้มีพระราชดำรัสชมเชยพระธรรมเทศนาวิสาขบูชาที่ถวายในคราวนั้นว่า “เป็นเทศนาที่เหมาะใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก เพราะพระศรีวิสุทธิวงศ์ได้เก็บคดีธรรมผสมกับคดีโลกอย่างสนิทสนมกลมกล่อมและใช้สำนวนโวหารอันเข้าใจง่าย สำหรับบุคคลไม่เลือกว่าชั้นใด” หนังสือธรรมที่ทรงเรียบเรียงและพิมพ์ออกเผยแผ่ก็มีมาก เรื่องที่มีผู้พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการมากที่สุดที่ควรยกขึ้นกล่าวในที่นี้ก็คือ “มงคลภาษิต”

๔. องค์การสาธารณูปการ

ในการพระศาสนาส่วนนี้ทรงปฏิบัติได้ดีจนเป็นตัวอย่างและได้รับความชมเชยโดยเฉพาะวัดเบญจมบพิตร ความสะอาดสะอ้านในพระอารามนับแต่สนามหญ้า, ต้นไม้, เสนาสนะ, พระอุโบสถ, พระวิหาร, กุฏิที่อยู่อาศัย นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอันวิจิตรงดงามในพระอาราม รักษาศิลปกรรมประณีตศิลป์ไว้เป็นอันดี ความเป็นระเบียบของเสนาสนะ ไม่ทำการก่อสร้างขึ้นจนเสียแบบแปลนแผนผังของวัด ไม่ให้มีบ้านคฤหัสถ์ติดกำแพงวัด และโดยเฉพาะศาสนสมบัติทั้งของวัดและศาสนสมบัติกลาง พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ พยายามรักษามิให้รั่วไหล ด้วยการทรงสอดส่องดูแลเป็นอย่างดี

ในการพระศาสนาต่าง ๆ นี้ เมื่อทรงได้รับมอบหมายธุระหน้าที่ใด ก็ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง และในการไปตรวจการคณะสงฆ์ พระองค์ได้เสด็จไปเกือบทุกจังหวัด เว้นแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะการเดินทางไม่สะดวก และเพราะยังไม่มีกิจที่ควรจะไป

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในกิจธุระพระศาสนาสมเด็จพระสังฆราช ทรงเอาพระทัยใส่เป็นอย่างดี ทั้งในหน้าที่และมิใช่หน้าที่โดยตรง

นอกจากนี้ยังมีการคณะต่าง ๆ ที่ควรกล่าวไว้เป็นพิเศษอีกคือ

การในวัดเบญจมบพิตร
ในธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารวัดเบญจมบพิตรนั้น นับตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าอาวาสเอง เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๑ สืบต่อจากสมเด็จ ฯ เจ้าอาวาสองค์ประถมแล้ว พระองค์ได้ปฏิบัติกรณียกิจ อำนวยให้เกิดประโยชน์และความเจริญแก่วัดเบญจมบพิตรหลายสถาน

ในการปกครอง
ได้กวดขันให้ภิกษุสามเณรรักษาระเบียบแบบแผนประเพณีอันเป็นพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะพระองค์ได้ทรงทำเป็นตัวอย่างอันดีเสมอ อันนี้เป็นที่ทราบกันดีของบรรดาภิกษุสามเณรวัดเบญจมบพิตร

ในการศึกษา
โดยพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงต้องการให้วัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งกลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแห่งหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงทราบ ดีมาแต่ต้น พระองค์จึงทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ นับตั้งแต่เป็นครูอาจารย์สอนด้วยพระองค์เอง และอำนวยการให้ภิกษุอื่น ๆ ได้ช่วยทำการสอน ควบคุมวิธีการเรียนการสอนด้วยพระองค์เอง ทั้งในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและในฐานะเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งผลของการศึกษานั้น นับตั้งแต่พระองค์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นต้นมา ปรากฏมีผู้ที่เรียนพระปริยัติธรรมและสอบไล่ได้เป็นเปรียญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสมัยที่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนี้ มีผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เกินกว่า ๑๐ รูป นับเป็นเกียรติประวัติอันดียิ่งของวัดเบญจมบพิตร ซึ่งโดยปกติในจำนวนภิกษุสามเณรอยู่ประจำพระอารามประมาณ
๗๐ – ๘๐ รูปนั้น มีที่เป็นเปรียญธรรม ตั้งแต่ ๓ ประโยค ถึง ๙ ประโยค ประมาณ ๖๐ – ๗๐ รูป

ในการเผยแผ่

นอกจากจะทรงแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัทโดยปฏิภาณโวหารประจำวันธรรมสวนะแล้ว ได้ทรงอำนวยการให้มีการเผยแผ่ด้วยประการอื่น ๆ อีกหลายประการ เป็นต้นว่ากวดขันความเป็นอยู่ของภิกษุสามเณรให้อยู่ในระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของวัด

ในการสาธารณูปการ
สำหรับพระอาราม พระองค์เคยรับสั่งว่าสมเด็จพระพันปีหลวงเคยรับสั่งกับพระองค์ไว้ว่าการที่รัชกาลที่ ๕ ทรงยกย่องและอุปถัมภ์บำรุงพิเศษนั้น ก็ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ได้รักษาพระอารามสืบพระราชกุศลให้ถาวรมั่นคงตลอดไป ฉะนั้นในการดูแลรักษาและจัดการเกี่ยวกับการสาธารณูปการในพระอาราม เช่น ความสะอาด การปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอันวิจิตรงดงาม และการกุฏิเสนาสนะวิหารภายในพระอารามโดยทั่วไป จึงทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ ถึงแม้จักไม่มีทุนมาทำการปฏิสังขรณ์มาแต่เดิม พระองค์ได้ทรงขวนขวายจัดให้มีขึ้น

ในฝ่ายการศึกษาทางคดีโลก
สมเด็จพระสังฆราชในฐานะเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ได้เอาพระทัยใส่สนับสนุนการศึกษาฝ่ายนี้โดยสมควร คือได้ร่วมกับทางราชการสร้างโรงเรียนชั้นประถมศึกษาเทศบาลขึ้นหลังหนึ่ง ในการอุปถัมภ์บำรุงนั้น ในวัดเบญจมบพิตร มีโรงเรียนที่สอนวิชาสามัญ ๒ โรง คือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และโรงเรียนเทศบาล ๘ ที่ได้สร้างขึ้น

สรุปรวมความแล้ว วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่ง

เจ้าอาวาส เป็นเวลา ๓๓ ปี ๙ เดือน และ ๑ วัน ได้เจริญขึ้นโดยลำดับ ทั้งในด้านการศึกษา การเผยแผ่ และในด้านการปกครองก็พยายามกวดขันภิกษุสามเณร ให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผนประเพณีอันดีของวัด ตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ ๕ และพยายามทำนุบำรุงรักษาศิลปกรรมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพระอารามเป็นอันดี สมกับความไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระพันปีหลวง

การต่างประเทศ
ได้เสด็จไปต่างประเทศทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และราชการรวม ๙ ครั้ง คือ.-

ครั้งที่ ๑

เมื่อพ.ศ.๒๔๘๒ ไปตรวจการคณะสงฆ์ภาคใต้ที่ไทรบุรี ปีนัง ในสหพันธรัฐมลายา

ครั้งที่ ๒

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นหัวหน้าคณะไปร่วมปฏิบัติงานฉัฏฐสังคายนา จตุตถสันนิบาต (สมัยไทย) ณ ปาสาณคูหา ประเทศสหภาพพม่า

ครั้งที่ ๓

เมื่อเดือนพฤษภาคม และ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปร่วมพิธีฉลองพุทธชยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศลังกา และได้เสด็จเลยไปสังเกตการพระศาสนา ในประเทศอินเดียอีกด้วย

ครั้งที่ ๔

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปร่วมงานและเป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมธาตุ ณ วัดบุบผาราม เมืองปีนัง สหพันธรัฐมลายา

ครั้งที่ ๕

เมื่อเดือนมีนาคม และเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เป็นหัวหน้าคณะ ไปร่วมพิธีฉลองพุทธยันตี ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น และยังได้เสด็จไปเยี่ยมทหารไทย ณ ประเทศเกาหลีด้วย

ครั้งที่ ๖

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้เป็นหัวหน้าคณะ นำพระสงฆ์ไทยไปอยู่ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย

ครั้งที่ ๗

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ในการไปประกอบพิธีเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม ณ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ได้เลยไปเยี่ยมคณะสงฆ์และเยี่ยมวัดต่าง ๆ ในประเทศลาวด้วย

ครั้งที่ ๘

เมื่อเดือนมิถุนายน และ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้เสด็จไปสังเกตการพระศาสนาการศึกษา และเยี่ยมประชาชน ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศ ตามคำทูลอาราธนาของมูลนิธิเอเซีย

ครั้งที่ ๙

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก่อนหน้าสิ้นพระชนม์เดือนเศษ ได้เสด็จไปสังเกตการพระศาสนาและเยี่ยมประชาชนอินเดีย ตามคำทูลอาราธนาของรัฐบาลอินเดีย

กรณียะพิเศษ

กิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนา นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีที่ทรงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติกรณียะเป็นพิเศษอีก คือ.-

๑. ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์อรรถกถา พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ๔ คัมภีร์

๒. ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับมอบให้เป็นผู้ชำระคัมภีร์พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ๓ คัมภีร์

๓. ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับมอบให้ชำระคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย

๔. ในรัชกาลที่ ๘ ได้เป็นประธานกรรมาธิการแปลพระไตรปิฏก เป็นภาษาไทยและได้ดำเนินการต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน จนสำเร็จพิมพ์เป็นเล่มเรียบร้อย จำนวน ๘๐ เล่ม

๕. ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนาพระมงคลวิเสสกถา ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๐ ครั้ง

๖. ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เป็นพระราชอนุศาสนาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวช

๗. ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เป็นประธานสงฆ์ ในงานรัฐพิธีฉลอง ๒๕ ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา

๘. เป็นผู้ตรวจหลักธรรม ในการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เพื่อรับพระราชทานรางวัล และพิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาประจำปี เป็นต้น

สมณศักดิ์
เมื่อวันพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ พระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา ๕๑ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ปรากฏการตามพระราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓

วันสิ้นพระชนม์
ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ เวลาเช้าพระอาการทั่วไปเป็นปกติ จะมีก็เพียงคงปวดพระเศียรตามธรรมดาซึ่งไม่หนักอะไร จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. เศษ พระอาการทั่วไปก็ยังปกติอยู่ แต่แล้วพระอาการที่ไม่มีใครคาดฝันก็ปรากฏขึ้น นั่นคือพระอาการปวดพระเศียรจนเกินกำลังความสามารถที่ทรงอดทนได้ เมื่อพระปฏิบัติรับใช้รีบเชิญนายแพทย์มาเฝ้าพระอาการ พอทรงเห็นหน้านายแพทย์และรับสั่งได้เพียงไม่กี่คำพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการอันสงบ คณะแพทย์ได้ลงความเห็นพร้อมกันว่าสมเด็จพระสังฆราชได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคเส้นโลหิตใหญ่ในพระสมอง แตกอย่างปัจจุบัน เมื่อเวลา ๑๖.๒๗ น. วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ กิตติโสภณมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๕ เวลา ๑๖.๒๗ น.

สิริพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา กับอีก ๒๑ วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน กับอีก ๑๒ วัน

ย่อความจาก “ธรรมจักษุ”
นิตยสารทางพระพุทธศาสนารายเดือน
————————————————————–
เหรียญสมเด็จพระสังฆราช(ปลด) รุ่นแรก ปี 2505 วัดเบญจมบพิตร กทม. พระเก่าพระดีทรงคุณค่าน่าบูชาสะสมมากครับ

Leave a Reply