19/04/2024

ตะกรุดนะราชสีห์ มหาอำนาจ เสริมบารมี อาจารย์สมราชฐ์:02506

ตะกรุดนะราชสีห์ มหาอำนาจ เสริมบารมี อาจารย์สมราชฐ์
ตะกรุดนะราชสีห์ มหาอำนาจ เสริมบารมี อาจารย์สมราชฐ์
ตะกรุดนะราชสีห์ มหาอำนาจ เสริมบารมี อาจารย์สมราชฐ์

รหัส : 02506

ราคา : 500.00

“ราชสีห์ หรือ สิงห์” เป็นชื่อเรียกสัตว์ในนิยายที่ถือว่ามีความดุร้าย และเชื่อว่ามีพลังอำนาจเหนือสัตว์ทั้งหลาย เกิดจากจินตนาการของศิลปิน และนักปราชญ์สมัยโบราณของไทยที่จินตนาการมาจากสิงโต แต่เมื่อเป็นสัตว์ในนิยาย ศิลปินจึงประดิษฐ์ให้งดงามพิสดารออกไปตามความรู้สึกนึกคิดของตน ทำให้รูปร่างเปลี่ยนไปจากธรรมชาติมากขึ้น ด้วยลักษณะที่พิเศษของราชสีห์ ทำให้มีการนำราชสีห์มาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ เพื่อแสดงถึงเกียรติยศและความสูงส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เป็นสัญลักษณ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการที่สำคัญ

คติความเชื่อเกี่ยวกับราชสีห์

คติความเชื่อเกี่ยวกับราชสีห์ของศาสนาพราหมณ์ ในตำราโหราศาสตร์กล่าวว่า พระอาทิตย์มีราชสีห์เป็นพาหนะ และพระอาทิตย์เองก็ถูกสร้างขึ้นมาจากการที่พระอิศวรได้นำราชสีห์จำนวน ๖ ตัว มาป่นให้ละเอียด แล้วห่อด้วยผ้าแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ทำให้บังเกิดเป็นพระอาทิตย์ขึ้น ดังนั้น ราชสีห์ จึงหมายถึงพระอาทิตย์ ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์๑

ในพุทธศาสนามีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นราชสีห์ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์มา ๑๐ ครั้ง ใน ๑๐ ชาดก๒ ได้แก่ ๑. วิโรจนชาดก ๒. สิงคาลชาดก ๓. สุกรชาดก ๔. คุณชาดก ๕. ทัทรชาดก ๖. สีหโกตถุชาดก ๗. มโนชชาดก ๘. มหาอุกุสชาดก ๙. ทุททูภายชาดก ๑๐. ชัมพุกชาดก อีกทั้งยังมีการเปรียบลักษณะของราชสีห์ ในลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ได้แก่ พระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ และมีพระหนุดุจคางราชสีห์ เป็นต้น และพระพุทธเจ้ายังได้รับการยกย่องว่าเปรียบเสมือนบุรุษสีหะเพราะทรงถือเยี่ยงราชสีห์๓ จึงถือว่าพระพุทธศาสนามีคติความเชื่อเรื่องราชสีห์เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังมีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์โบราณในแต่ละอาณาจักร เมื่อประทับอยู่ที่ใด ก็จะมีสิงโตหมอบอยู่ข้างพระราชบัลลังก์เสมอ เพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่สามารถสยบได้แม้กระทั่งสัตว์ที่ดุร้ายและมีพลังอำนาจเหนือสัตว์ทั้งหลาย จนถือกันว่าเป็นสัตว์ที่คู่ควรแก่ความเป็นพระราชา และได้สืบทอดคติความเชื่อนี้ต่อมา เช่น การนำรูปสิงโตหรือราชสีห์มาสลักนั่งหมอบหรือนั่งชันเข่ามองเห็นเต็มตัวอยู่ข้างๆ ราชบัลลังก์ จึงเรียกที่ประทับนี้ว่า ราชสีหาสน์ หรือการสั่งซื้อหนังสิงโตจากต่างประเทศมาปูลาดอยู่เบื้องหน้าราชบัลลังก์ก็มีต่อมาจึงได้มีวิวัฒนาการจากราชสีหาสน์ที่มีสิงโตเต็มตัว เหลือเพียงราชบัลลังก์ที่มีขาเป็นเพียงรูปเท้าสิงห์๔

นอกจากนี้ คติความเชื่อเกี่ยวกับราชสีห์ยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความมีพลังอำนาจ ความกตัญญู และการปกป้องภยันตรายต่างๆ การใช้รูปสิงห์หรือราชสีห์เป็นเครื่องประดับสถานที่ต่างๆ จึงเป็นที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมโบราณ เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพสลักหิน หรือภาพสลักเพื่อประดับอาคารศาสนสถาน และรูปเคารพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องเที่ยวเมืองพม่าตอนหนึ่งว่า “พระเจดีย์ที่สำคัญในเมืองพม่ามักมีรูปสิงห์ตัวใหญ่อยู่สองข้างปากทางเข้าบริเวณทุกแห่ง การที่นำรูปสิงห์ตั้งประจำปากทางดูประหลาด ที่ชอบทำกันทั้งจีน เขมร และชวา ไม่ใช่แต่พม่าเท่านั้น สิงห์ก็คือราชสีห์นั่นเอง ในเมืองไทยเราแต่โบราณก็ชอบทำรูปสิงห์ตั้งปากทาง แต่มักทำรูปสิงห์แบบเขมร หรือมิฉะนั้นก็เอาสิงโตจีนมาตั้ง เห็นทำรูปหล่อเป็นสิงห์ไทยแห่งเดียว ที่วัดพระเชตุพนฯ เป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น น่าจะเป็นเพราะทรงพระราชปรารภว่า รูปสิงห์แบบไทยยังไม่มีใครทำมาก่อน จึงทรงสร้างขึ้นก็เป็นได้ มูลเหตุที่ทำรูปราชสีห์ตั้งปากทาง น่าจะได้คติมาแต่ครูเดียวกันทั้งนั้น แต่เดิมเห็นจะทำให้เป็นรูปศักดิ์สิทธิ์สำหรับรักษาสถาน มิให้คนอันธพาลเข้าไปประพฤติร้ายในบริเวณที่นั้นเป็นเค้ามูล”๕

ประเภทและลักษณะของราชสีห์

ราชสีห์ มักจะถูกกล่าวถึงในวรรณคดีอยู่บ่อยครั้ง โดยยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ และมีอำนาจสูงสุดเหนือสัตว์อื่น แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด๖ ได้แก่
๑. ติณสีหะ หรือติณราชสีห์ มีร่างกายสีแดง เหมือนขานกพิราบ รูปร่างใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม และกินหญ้าเป็นอาหาร

๒. กาฬสีหะ หรือกาฬราชสีห์ มีร่างกายสีดำ รูปร่างใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม และกินหญ้าเป็นอาหาร

๓. ปัณฑุสีหะ หรือปัณฑุสุรมฤคินทร์ มีร่างกายเหลืองดังใบไม้ รูปร่างใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม และกินเนื้อเป็นอาหาร

๔. ไกรสรสีหะ เกสรสีหะ หรือไกรสรสีหราช เป็นราชสีห์ปากแดงดุจครั่ง มีสร้อยคอแดงและขาวสลับกัน กลางหลังตั้งแต่ศีรษะถึงโคนหางเป็นรอยวนสามรอบ เมื่อออกจากถ้ำครั้งใดก็ตั้งเท้าหลังให้เสมอกันดี แล้วเหยียดเท้าหน้ายึดกายสยายสร้อยคออย่างผึ่งผาย เมื่อตั้งตัวตรงแล้วก็จามดังสนั่นดุจเสียงฟ้าฟาด เมื่อสลัดขนให้หมดผงธุลีแล้วก็เผ่นโผนและเปล่งสีหนาท ๓ ครั้ง เสียงดังลั่นก้องไปไกลรัศมีหนึ่งโยชน์ หมู่จตุบาทและทวิบาท มิอาจดำรงตนอยู่ได้ ต่างสะดุ้งตกใจกลัวจนตัวสั่นและเผ่นหนีซุกซ่อนด้วยความกลัวตาย แม้วัว ควาย ช้าง ม้า ที่มนุษย์เลี้ยง เมื่อได้ยินเสียงไกรสรสีหราชแผดเสียงเมื่อใด ก็แตกตื่นเชือกและปลอกขาด ไกรสรสีหราชเป็นราชสีห์กินสัตว์และมีอำนาจเหนือสัตว์ทั้งปวง๗ จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์บนเครื่องหมายแสดงเกียรติยศต่างๆ

คุณลักษณะของราชสีห์ที่ปรากฏในหนังสือ ปัญหาพระยามิลินท์สีห วรรคที่ ๕ มีคุณลักษณะประจำ ๗ ประการด้วยกัน๘ คือ
๑. ราชสีห์ เป็นสัตว์หมดจดสะอาดไม่มัวหมอง
๒. ราชสีห์ เที่ยวไปด้วยเท้าทั้งสี่ มีเยื้องกรายอย่างกล้าหาญ
๓. ราชสีห์ มีรูปร่างโอ่อ่า สร้อยคอสะสวย
๔. ราชสีห์ ไม่นอบน้อมต่อสัตว์ใดๆ แม้เพราะต้องเสียชีวิต
๕. ราชสีห์ หาอาหารไปโดยลำดับ พบปะอาหารในที่ใดก็กินเสียจนอิ่มในที่นั้น ไม่เลือกว่าดีหรือไม่ดี
๖. ราชสีห์ ไม่มีการสะสมอาหาร
๗. ราชสีห์ หาอาหารไม่ได้ก็ไม่ดิ้นรน ได้ก็ไม่ทะเยอทะยาน และไม่กินจนเกินความต้องการ

การใช้ราชสีห์เป็นตราสัญลักษณ์ประจำตำแหน่ง

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ราชสีห์ ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ในราชสำนักไทยก็เช่นเดียวกัน ราชสีห์ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งราชการที่สำคัญของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากหลักฐานข้อมูลทางวรรณกรรมพระพุทธศาสนาและจากตำราต่างๆ พบว่า ราชสีห์เป็นสัตว์ตระกูลสูง เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า มีรูปร่างสง่างาม เต็มไปด้วยพละกำลัง และเป็นสัตว์ที่มีความน่าเกรงขาม รวมทั้งคุณลักษณะอันประเสริฐทั้ง ๗ ประการ ประกอบกับความเชื่อว่าราชสีห์เป็นต้นกำเนิดของพระอาทิตย์ ที่ให้แสงสว่างแก่มนุษย์ในการดำรงชีพอยู่ได้ นับเป็นคุณลักษณะที่ข้าราชการฝ่ายพลเรือนพึงมีเพราะข้าราชการฝ่ายพลเรือนนั้นมีหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงตนอยู่ในธรรมของผู้ปกครองในฐานะข้าของแผ่นดิน ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะของราชสีห์ และคุณความดีของพระอาทิตย์ ราชสีห์จึงถูกเลือกให้เป็นตราประจำตำแหน่งของเสนาบดีที่สมุหนายก

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของตราประจำตำแหน่งไว้ว่า “ตราพระราชสีห์ เห็นจะมีก่อนอื่นหมด เพราะเดิมเสนาบดีมีตำแหน่งเดียวเป็นรองจากพระเจ้าแผ่นดินในที่ว่าราชการต่างๆ แต่การรบคงมากกว่าอย่างอื่น ตามตำแหน่งที่เรียกเสนาบดีก็หมายความว่า เป็นใหญ่ในเสนา (คือทหาร) เป็นการยกย่องว่าเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตามคำที่ใช้เรียกคนกล้าว่า นรสิงห์ ภายหลังการมากขึ้นคนเดียวบังคับไม่ไหว จึงตั้งเติมอีกตำแหน่งหนึ่งแบ่งกันบังคับการ คนหนึ่งให้บังคับ ทหารที่ประจำการสงครามอีกคนหนึ่งให้บังคับพลเรือนคือพลที่อยู่เรือนไม่ไปสงคราม ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น จะให้ใช้ตราอะไรคู่กัน ก็เลือกได้คชสีห์ แต่ที่จริงคลาดไปหน่อย คำว่า คชสีห์ เห็นจะเป็นคำยกย่องช้างตัวกล้าว่าดุเหมือนราชสีห์ ได้มาจากคำว่า นรสิงห์ นั่นเอง”๑๐

คำว่า คชสีห์ นั้นเป็นลักษณะของราชสีห์ผสมกับช้าง(คช) ด้วยเหตุว่าคติความเชื่อของไทย ถือว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติใช้ในราชสงคราม๑๑ ดังนั้น ตราคชสีห์ จึงสอดคล้องกับข้าราชการที่ออกศึกสงครามซึ่งก็คือทหาร และเป็นตราประจำตำแหน่งของเสนาบดีที่สมุหกลาโหม

หน้าที่การใช้งานของตราพระราชสีห์

ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การประทับตราหนังสือราชการ5 หัวหน้ากรมใหญ่ต้องได้รับมอบหมายจากพระเจ้าแผ่นดินให้ใช้ตราของทางราชการประทับบนเอกสารที่เกี่ยวกับการปกครองทั้งหมดที่กรมใหญ่ประกาศใช้ เอกสารที่ประทับตรานั้น คือ สารตราที่ขุนนางส่วนกลางส่งไปยังหัวเมือง โดยตราที่ใช้ประทับ ได้แก่ ตราพระราชสีห์ กรมมหาดไทย มีสมุหนายกเป็นผู้ดูแลบังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝ่ายเหนือ ตราพระคชสีห์ กรมพระกลาโหม มีสมุหกลาโหมเป็นผู้ดูแลบังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝ่ายใต้ ตราบัวแก้ว กรมพระคลัง มีโกษาธิบดีเป็นผู้ดูแลด้านการรับจ่ายเก็บพระราชทรัพย์ อากร และการค้าขายกับต่างประเทศ ตราประจำตำแหน่งของกรมใหญ่ทั้ง ๓ ตรานี้ ใช้กำกับราชการในสมัยนั้น ดังปรากฏลายประทับอยู่ใน”กฎหมายตราสามดวง” รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)๑๒ โดยตราประจำตำแหน่งนี้ เมื่อพ้นจากหน้าที่ราชการแล้ว ต้องส่งคืน ห้ามนำไปใช้ต่อ

ตราพระราชสีห์ ประกอบด้วย ตราพระราชสีห์ใหญ่ เป็นตราสำหรับประทับหนังสือราชการ ซึ่งเชิญพระบรมราชโองการ เรียกหนังสือนั้นว่า “สารตรา” เช่น หนังสือถึงเจ้าประเทศราช หนังสือหรือคำสั่งถึงข้าราชการหัวเมืองธรรมดา การลงนามกำกับท้ายเอกสารราชการของเสนาบดีต้องประทับตราพระราชสีห์ใหญ่บนนาม และตราพระราชสีห์ใหญ่นี้ต้องอยู่ประจำ ณ ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ห้ามนำติดตัวไป ยกเว้นตราพระราชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย เป็นตราสำหรับประทับบนนามเสนาบดีในหนังสือคำสั่งทั้งปวง เรียกว่า “ตราน้อย” หนังสือที่ประทับตราพระราชสีห์น้อยคล้ายกับจดหมายลงนามของเสนาบดี เรียกหนังสืออย่างนี้ว่า “ท้องตรา” นอกจากตราพระราชสีห์ใหญ่และตราพระราชสีห์น้อยแล้ว ยังมีตราพระราชสีห์ที่ใช้ในการปฏิบัติราชการอื่นๆ อีก เช่น ตราพระราชสีห์ประจำผนึก ตราพระราชสีห์ประจำผนึกครั่ง ตราพระราชสีห์น้อยเดิมเสนาบดีเก็บไว้ที่บ้าน ต่อมาสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสั่งให้เสมียนตราเก็บตราไว้ที่ศาลาลูกขุนใน ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้น จึงเลิกประเพณีการเก็บตราประจำตำแหน่งเสนาบดีไว้ที่บ้านตั้งแต่นั้นมา๑๓

การใช้ดวงตราประจำตำแหน่งประทับเป็นสำคัญในหนังสือสั่งการในหน้าที่แทนการลงนามนี้ ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) จึงได้มีการเปลี่ยนระเบียบแบบแผนใหม่ ให้ลงนามในท้ายท้องตราเพื่อไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อทรงจัดตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้นแล้ว จึงใช้วิธีการลงนามและประทับตรากำกับไว้ทุกฉบับ๑๔ ต่อมาเมื่อเปลี่ยนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (พ.ศ.๒๔๗๕) แล้ว มีการจัดระเบียบราชการใหม่ ให้เหมาะสมกับรูปแบบการปกครอง การลงนามหรือลายมือชื่อเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าตราประจำตำแหน่ง ตราพระราชสีห์ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไม่ปรากฏว่าได้มีการใช้ประทับอีก๑๕ แต่ยังคงใช้เป็นตราเครื่องหมายประจำกระทรวงมหาดไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน

ดวงตราราชสีห์ประจำตำแหน่งสมัยรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ด้วยเหตุที่มีการติดต่อกับประเทศตะวันตก ทำให้มีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เนื่องจากพระมหากษัตริย์ของชาวตะวันตกมีประเพณีการประดับเครื่องหมายแสดงพระเกียรติยศที่ฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะทรงสร้างเครื่องหมายแบบชาวตะวันตกจากรูปแบบของสิ่งของที่เป็นมงคลดั้งเดิมของไทย และจากแบบอย่างของตราประทับหนังสือราชการ ซึ่งแสดงถึงเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ จึงได้มีการสถาปนาดาราตราตำแหน่งเป็นครั้งแรก และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาดาราสำหรับตำแหน่งสมุหนายก ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น คือ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) โดยนำลายของดวงตราประจำตำแหน่งสำหรับประทับบนหนังสือราชการ มาสร้างเป็นดาราประดับเสื้อ เรียกว่าดาราตราราชสีห์ ลักษณะเป็นรูปกลมรี มีรัศมี ๑๔ แถบ ทำด้วยทองคำสลักลายลงยาราชาวดี ตรงกลางจำหลักเป็นรูปราชสีห์ มีพระมหามงกุฎอยู่บนหลัง กรอบวงกลมประดับเพชร๑๖

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง และปรับปรุงดาราตราตำแหน่ง และเครื่องประดับยศ สำหรับพระราชทานปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่ข้าราชการตามราชประเพณี ซึ่งปรับปรุงจากรูปแบบเดิม โดยดาราตราราชสีห์ สำหรับตำแหน่งสมุหนายก ลวดลายเหมือนดาราตราราชสีห์เดิมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่างกันที่พระมหามงกุฎแก้เป็นพระจุลมงกุฎ และเปลี่ยนรูปดาราจากรัศมี มาเป็นกลีบบัว

นอกจากนี้สายสร้อยแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ยังมีราชสีห์และคชสีห์ถือฉัตรอยู่สองข้างของช้างไอยราพต (ช้างสามเศียร) ซึ่งบนหลังช้างมีพระจุลมงกุฎประดิษฐานอยู่บนพานอันเป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดแห่งการนำราชสีห์และคชสีห์มาใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์แผ่นดินและพระมหากษัตริย์ที่ยังคงพระราชทานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ราชสีห์กับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องในองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการชั้นสูง หรือผู้กระทำความดีความชอบต่อแผ่นดิน ที่ได้รับพระราชทานประกอบการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ รูปแบบทางศิลปกรรมที่นำมาใช้ประกอบเป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแต่ละชิ้น จึงล้วนมีความวิจิตรบรรจง เพื่อให้เหมาะสมกับยศถาบรรดาศักดิ์ หรือคุณงามความดีของผู้ที่ได้รับพระราชทาน

ราชสีห์ ซึ่งเป็นสัตว์ในนิยายที่มีคติความเชื่อในสังคมไทยเกี่ยวกับการเป็นสัตว์มงคลที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และขุนนางชั้นสูงมาแต่อดีต จึงมักจะถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์บนทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินต่างๆ รวมถึงการเป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ เช่น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย ในขณะที่ทรงประทับนั่งที่พระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งดังกล่าวจะต้องปูลาดด้วยแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณ๑๗ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของราชสีห์ในฐานะเป็นเจ้าแห่งสัตว์ที่มีพลังอำนาจ แต่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ราชสีห์ ยังปรากฏบนทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน10 ประเภทเครื่องอิสริยยศ หมวดเครื่องอุปโภคที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้มีความดีความชอบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่ หีบหมากทองคำลงยาประดับตราราชสีห์ สอดคล้องกับการพระราชทานดาราตราราชสีห์ให้แก่เสนาบดีตำแหน่งสมุหนายก

กล่าวโดยสรุป ราชสีห์ เป็นสัตว์ในนิยายที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของสังคมไทยเป็นอย่างมาก กริยา ความสง่างาม องอาจ น่าเกรงขาม ผสมผสานกับคตินิยมความเชื่อทางศาสนาเป็นพื้นฐาน ทำให้ราชสีห์ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งที่สำคัญของบ้านเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่พึงมีในการปฏิบัติหน้าที่ของเสนาบดีหรือข้าราชการในการปกครองเหล่าพลเรือน เพื่อแบ่งเบาภาระการบริหารกิจการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างปกติสุข ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญ และจงรักภักดี ดังคุณลักษณะของราชสีห์ที่ดีงามและควรนำมาเป็นแบบอย่าง

ข้อมูลจาก : http://emuseum.treasury.go.th/article/538-rajasiha.html

—————————————————–

ในตำราประเวทย์คาถาอาคมโบราณ์ได้มีการบันทึกวิชาราชสีห์เอาไว้ เป็นคาถาบ้าง เป็นยันต์บ้าง พระเกจิอาจารย์ในสมัยโบราณนิยมนำมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลัง เครื่องรางประเภทสิงห์ หรือราชสีห์ที่รับความนิยมและกล่าวขานกันว่าขลังยิ่งนักได้แก่ สิงห์งาแกะหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ หลวงพ่อพ่อเดิมท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนาน ได้สร้างสิงห์โดยแกะจากงาช้างจารอักรขระคาถาเลขยันต์และปลุกเสกได้ขลังยิ่งนัก มาในยุคหลังยังมีสิงห์งาแกะ หลวงพ่อหอม วัดชานหมาก จ.ระยอง, สิงห์เมตตาบารมีหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐมเป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเครื่องรางประเภทสิงห์ที่สร้างโดยเกจิอาจารย์อีกมากมายเป็นผ้ายันต์บ้าง เป็นตะกรุดบ้าง หรือเป็นรูปตัวสิงห์ในรูปแบบต่างๆบ้าง พุทธคุณส่วนมากจะเน้นทางด้านเสริมบารมี มหาอำนาจ และเมตตามหานิยม

ตะกรุดนะราชสีห์ สร้างขึ้นอย่างเข้มขลังโดยอาจารย์ฯได้นำแผ่นทอง ทองแดงมาจารอักขระยันต์ นะราชสีห์ สุดเข้มขลัง ม้วนเข้าเป็นตะกรุดปลุกเสกด้วยมนต์คาถาต่างๆ หลายครั้ง จนบังมีความขลังมีพลังอำนาจ

ตะกรุดนะราชสีห์ บูชาเพื่อเสริมทางด้านมหาอำนาจ เป็นที่ยำเกรงต่อคนทั่วไป ลูกน้องบริวารให้ความเคารพนับถือ ไปไหนมีแต่คนเกรงใจต้อนรับขับสู้ เสริมบารมีฐานะให้สูงขึ้น เป็นเมตตามหานิยม เหมาะสำหรับคนที่เป็นหัวหน้างาน หัวหน้าฝ่าย ทำงานเกี่ยวกับการปกครอง หรือผู้ที่ต้องทำงานที่ต้องใช้อำนาจให้คนเชื่อฟัง จะเป็นข้าราชการบูชาเสริมหน้าที่การงานก็ได้ หรือผู้ที่ต้องการจะบูชาเพื่อเสริมบารมีอำนาจดียิ่งนัก

ตะกรุดนะราชสีห์ ความยาว 2.5 นิ้ว
ใส่หลอดพร้อมแขวน เพิ่ม 100.-

Leave a Reply